-

***

18 เม.ย. 2554

"สมาธิ:ยาบำบัดความเจ็บปวดทางกายชั้นเยี่ยม"





อย่างที่ทราบกันดีว่า จิตใจกับร่างกาย สองสิ่งนี้สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น และสามารถส่งผลกระทบซึ่งกันและกันในมิติต่างๆได้

แม้กระทั่งการฝึกจิตหรือทำสมาธิเพียงแค่ 80 นาทีสำหรับผู้เริ่มต้น ก็กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ส่งผลต่อสมองทำให้ช่วยเยียวยาความเจ็บปวดทางร่างกายได้ พิสูจน์จากผลวิจัยระดับหลังปริญญาเอกของศูนย์การแพทย์ Wake Forest Baptist Medical Center ใน นอร์ธ คาโรไลนา

Fadel Zeidan ผู้เขียนและผู้ร่วมวิจัยผลงานชิ้นนี้ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารด้านประสาทวิทยาศาสตร์ Journal of Neuroscience เผยว่า ผลการศึกษาดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่าการฝึกสมาธิชั่วโมงกว่าๆสามารถช่วยอาการเจ็บปวดและการกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดที่มาจากการทำงานของสมอง โดยอธิบายว่า “เราพบว่าความรุนแรงของความเจ็บปวดลดลง 40 เปอร์เซ็นต์และความไม่พอใจต่อความเจ็บปวดลดลง 57 เปอร์เซ็นต์ และแสดงให้เห็นว่าสมาธิช่วยลดความเจ็บปวดได้มากกว่ามอร์ฟีนหรือยาแก้ปวดอื่นๆที่ช่วยลดระดับความเจ็บปวดได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์”

นักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่าง 15 คนที่ไม่เคยนั่งสมาธิเลย ลองทำสมาธิ 4 ช่วงๆละ 20 นาที เพื่อหัดควบคุมลมหายใจปล่อยวางอารมณ์และความคิด โดยทั้งก่อนและหลังการทำสมาธิ กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการตรวจและวินิจฉัยสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ magnetic resonance imaging (MRI) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจร่างกายโดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ เพื่อช่วยในการสร้างภาพเหมือนจริงของสมองด้วยคอมพิวเตอร์ โดยกระบวนการนี้ใช้วิธี arterial spin labeling ซึ่งช่วยให้อ่านค่ากระบวนการสมองได้ยาวนานขึ้น เช่นในระหว่างการทำสมาธิซึ่งดีกว่าการทำ MRI สแกนสมองแบบมาตรฐานทั่วไป ในขณะเดียวกัน ระหว่างทำการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นักวิจัยจะติดเครื่องมือทำความร้อนที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดถูกที่บริเวณขาขวาของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งความร้อน 120 องศาฟาเรนไฮต์ทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รู้สึกเจ็บปวดเป็นเวลานานถึง 5 นาที

หลังจากการทำสมาธิ ภาพสแกนแสดงให้เห็นว่าระดับความเจ็บปวดของทุกคนลดลง 11-93 เปอร์เซ็นต์ โดยการทำสมาธิทำให้การทำงานของสมองในส่วนที่ทำหน้าที่รับความรู้สึก (Somatosensory Cortex) น้อยลง ซึ่งสมองส่วนนี้เกี่ยวกับการกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวด ในขณะที่การทำสแกนก่อนการทำสมาธิแสดงให้เห็นสมองทำงานหนัก แต่เมื่อทำสแกนให้อาสาสมัครขณะที่พวกเขากำลังทำสมาธิ ภาพสแกนไม่ปรากฏการทำงานของสมองในส่วนที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด

Zeidan กล่าวว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำสมาธิมีประสิทธิภาพในการยับยั้งความเจ็บปวดคือมันไม่ได้ส่งผลต่อการการทำงานของสมองในส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงส่วนเดียวแต่ส่งผลต่อกระบวนการหลายระดับที่สมองสั่งการให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด


แปลและเรียบเรียงโดย พันธุ์ทิพา วาจรัต




ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย:"ข่าวเข้ม ฉับไว เป็นกลาง"

ไม่มีความคิดเห็น:

.